ราชการไม่ควรใช้ buzzword พร่ำเพรื่อกับทุกงาน

ในฐานะคนที่สัมผัสกับระบบราชการมาสักพักใหญ่ เนื่องจากพ่อของผมรับราชการอยู่ ทำให้ผมรู้สึกว่า บางครั้ง ผู้ใหญ่ในส่วนงานราชการเอง “เห่อ” กับ buzzword ที่ออกมาในช่วงหลัง ๆ มานี้ ยิ่งในแง่ของเทคโนโลยีแล้ว ไม่ต้องพูดถึง เต็มไปหมด

อะไรนะ อ้อ ผลงานนี้หรอ เอา blockchain มาใส่สิ จะคัดคนที่ผ่านเกณฑ์หรอ ใช้ AI สิ ยุคนี้สมัยนี้แล้ว มันต้อง Big Data อันนี้หรอ ใช้ IoT แก้สิ หรือแม้แต่การเห่อเรื่อง 5G ว่าจะเปลี่ยนแปลงการทำงานในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง

ทั้งหมดนี้ มันล้วนเป็น buzzword ที่เกิดขึ้นในโลกเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว คำถามคือ เทคโนโลยีมันดีไหม ดี ไม่เถียง แต่ การที่จะ “รีดประสิทธิภาพของเทคโนโลยี” เป็นสิ่งที่สำคัญมาก


ใช้เทคโนโลยี ก็เหมือนทำอาหาร

เอาง่าย ๆ นะ ให้นึกถึงสภาพเมื่อคุณแข่งรอบ Mystery Box ใน Masterchef แล้วให้วัตถุดิบที่ไม่ทราบมาก่อนมาเพื่อรังสรรค์เมนูอาหารใหม่ เราต้องหยิบวัตถุดิบอันหนึ่งเพื่อ “ชูรสชาติ” ของมัน ไม่ใช่ทำให้รสชาติของมันด้อยลงด้วยการ “ปรุงไม่ถูกวิธี”

เช่นกัน การที่จะใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น อยู่ที่เราจะดึงจุดเด่นและจุดแข็งของมันมาใช้งาน และมันต้องสอดคล้องกับผลงานที่จะนำเสนอออกมาด้วยว่ามันเหมาะสมกับเทคโนโลยีนี้มากน้อยเพียงใด


ตัวอย่าง

ตัวอย่างก็คือ สมมติว่า ถ้าหากผมต้องการที่จะทำระบบวิเคราะห์การจราจรเพื่อแก้ปัญหารถติด ผมจะหยิบเทคโนโลยีใดมาใช้ก็ได้ แต่สุดท้าย 3 เทคโนโลยีหลักที่ผมจะใช้คือ Big Data, IoT และ AI

คำถามที่ตามมาคือ อ่าว ทำไมไม่ใช้ Blockchain คำตอบคือ ได้ข้อมูล Blockchain มา มันไม่มีประโยชน์

ขณะที่ Big Data สามารถเก็บปริมาณรถยนต์ที่สัญจรไปมาในแต่ละช่วงได้ ทั้งอดีตยันปัจจุบัน สามารถรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาว่า เกิดอะไรขึ้นถึงทำให้รถติด และสาเหตุของรถติดคืออะไร โดยข้อมูลได้มาจาก IoT ที่อยู่บนท้องถนน และใช้แนวคิดด้านการทำ AI หรือ Data Mining มาพล็อตเพื่อดูทางออกในการแก้ไขปัญหารถติดให้ได้มากที่สุด

ทั้งหมดนี้ มันต้องเกิดจากการศึกษาถึงจุดเด่น จุดด้อย และข้อจำกัดของแต่ละเทคโนโลยีด้วย ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญมากต่อการเลือกใช้เทคโนโลยี เพราะถ้าหากไม่รู้สิ่งเหล่านี้ มันจะทำให้ผลงานที่ออกมาประสิทธิภาพไม่ดีเท่าที่ควร

ไม่ใช่อยู่ ๆ หยิบ Blockchain มาใช้ แล้วสุดท้ายมันกลายเป็นว่า มันลดค่าของตัวผลงานที่ออกมา และได้แค่ความโก้หรูของศัพท์เทคนิคที่ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลยในแง่ของการใช้งานจริง

หรือแม้แต่ถามว่า ทำไมไม่ใช้ 5G คำตอบคือ โครงสร้างพื้นฐานตอนนี้มันเพียงพอต่อ 5G หรือไม่ ถ้าไม่ จะใช้ให้เสียเวลาทำไม เพราะอุปกรณ์มันยังราคาแพงอยู่ และเทคโนโลยีปัจจุบันอย่าง NB-IoT ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว ไม่ได้ต้องการ low-latency ขนาดนั้น


Buzzword is great PR, but not in every single case

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่จะเลือกใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึงการ PR เกี่ยวกับผลงานต่าง ๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมด้วย ไม่ใช่อยู่ ๆ จะโยน buzzword ไปตู้ม ๆ แล้วสุดท้ายมันกลายเป็นดาบ 2 คม มาทิ่มแทงตัวเองเมื่อผลงานมันไม่ได้ดีอย่างที่คิด

เช่น การที่บอกว่าใช้ “AI” ในการตัดสินใจ แต่สุดท้ายก็กลับจบด้วยการทำ decision tree ธรรมดา ถามว่ามันเป็น “AI” หรือไม่

คำตอบคือ “technically, yes” แต่ในเชิงปฏิบัติแล้ว ไม่ควรที่จะ PR ด้วยการบอกว่า ใช้ AI เพราะคนจะคิดว่า มันต้องล้ำสมัยและไม่ผิดพลาด

อย่าลืมนะ ว่าเทคโนโลยีมันไม่ได้สมบูรณ์แบบ 100% และถ้าหากโปรโมตซะโก้หรู แต่สุดท้ายใช้งานได้ไม่จริง ปัญหามันจะเกิดขึ้นเนี่ยแหละครับ


บทส่งท้าย

สุดท้ายก็ฝากถึงคนที่ทำงานราชการด้วยว่า เทคโนโลยีมันไม่ผิดหรอก แต่การที่จะเลือกใช้ มันต้องเลือกใช้ให้มันสมเหตุสมผล ไม่ใช่ใช้เพียงเพราะตามแฟชั่น หรือตาม buzzword ที่เกิดขึ้น

สุดท้าย คำพูดนี้ สามารถไป apply ได้ทั้งอุตสาหกรรมเลยนะครับ ไม่ใช่แค่ระบบราชการอย่างเดียว

Discover more from Be1con's Blog

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading