ทำไม DaVinci Resolve บน iPad ถึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อ iPad Pro

DaVinci Resolve บน iPad (ภาพจาก Blackmagic Design)

การมาถึงของ DaVinci Resolve บน iPad ถือเป็น move ที่น่าสนใจมาก เพราะนี่ถือเป็นการดันตลาด pro-level บน iPad Pro ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าแอปเปิลจริงจังกับสาย creative professionals โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายตัดต่อวิดีโอ (ทั้งตัดต่อทั่วไป, ละครทีวี หรือแม้แต่ภาพยนตร์)


รู้จัก DaVinci Resolve

Fairlight ใน DaVinci Resolve (ภาพจาก Blackmagic Design)

DaVinci Resolve ถือว่าเป็นกลุ่มซอฟต์แวร์ตัดต่อวิดีโอแบบครบวงจร (ปัจจุบันเจ้าของคือ Blackmagic Design) ที่ได้รับความนิยมสูงมากในวงการภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ (เช่น ซีรีส์)

สำหรับสาเหตุที่ได้รับความนิยมสูงในระดับนี้ เนื่องจากความสามารถในการปรับแต่งสี (color grading) ทั้งแบบธรรมดา (ด้วยมาตรฐาน YRGB) หรือ HDR ที่ได้รับการยอมรับจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ทั่วโลก

นอกจากนี้ ในชุดเครื่องมือของ DaVinci Resolve นั้น จัดได้ว่าครบถ้วนกระบวนความ ตั้งแต่เริ่มตัดต่อยันเผยแพร่ แบบครบวงจรภายในซอฟต์แวร์เดียวกัน ทั้ง

  • ตัดต่อแบบรวดเร็ว (Rough Editing หรือที่ในซอฟต์แวร์เรียกว่า “Cut”)
  • ตัดต่อละเอียดแบบหลาย layer (Non-Linear Editing; NLE)
  • ปรับแต่งสี (color grading)
  • ใส่เอฟเฟกต์ 2 มิติและ 3 มิติ (ผ่านเครื่องมือ Fusion)
  • แก้ไขเสียง (ผ่านเครื่องมือ Fairlight)

ที่สำคัญคือ DaVinci Resolve นั้น ใช้งานฟรีแบบไม่มีเงื่อนไข และได้ฟีเจอร์พื้นฐานที่ครบถ้วน (ทั้งบนเดสก์ท็อป และ iPad) ซึ่งช่วยดึงดูดให้หลายคนเลือกที่จะใช้ DaVinci Resolve ในสายงานตัดต่อวิดีโอ แต่ถ้าหากต้องการฟีเจอร์ที่มากขึ้น เช่น HDR ที่ advanced ขึ้น ก็สามารถซื้อ DaVinci Resolve Studio มาใช้ได้เช่นกัน เป็นการจ่ายครั้งเดียว ไม่ต้องจ่ายรายปี ในแบบที่ Adobe ทำอยู่ ณ ตอนนี้


Position ของ iPad Pro ที่แอปเปิลอยากให้มันเป็น

iPad Pro รุ่น Apple M2 (ภาพจากแอปเปิล)

ในช่วงที่ผ่านมา แอปเปิลได้วาง position ของ iPad Pro ว่าเป็นอุปกรณ์สำหรับมืออาชีพ (professionals) เริ่มจากการเปิดตัว iPad Pro รุ่นแรกเมื่อ 7 ปีก่อน ที่มาพร้อมกับอุปกรณ์เสริมสำหรับ iPad Pro อย่าง Apple Pencil และ Smart Keyboard

การเปิดตัว iPad Pro รุ่นแรกเมื่อ 7 ปีก่อนนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามอีกขั้นของแอปเปิลในการนำ iPad มาสู้กับแล็บท็อป รวมไปถึงแท็บเล็ตแบบ 2-in-1 (ที่แอปเปิลแลจะสนใจเป็นพิเศษ) ซึ่งทั้งแล็บท็อปและแท็บเล็ตแบบ 2-in-1 ที่ว่ามานี้ล้วนแล้วแต่เป็นตลาดที่ไมโครซอฟท์เชี่ยวชาญทั้งคู่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งแท็บเล็ตแบบ 2-in-1 ที่ไมโครซอฟท์เป็นเต้ย ในช่วงนั้น ไมโครซอฟท์เตรียมที่จะเปิดตัว Surface Pro 4 และ Surface Book)

Panos Panay กับ Surface Book ในมือของเขา

ผ่านมา 7 ปี position ของ iPad Pro เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่แอปเปิลปรับตำแหน่ง iPad Pro ให้ไปสายนักสร้างสรรค์มืออาชีพ (creative professionals) มากยิ่งขึ้น

การเอนไปสาย creative professionals นั้น ยิ่งเห็นได้ชัดจากการเปิดตัว iPad Pro รุ่นที่ 5 เมื่อปีที่แล้ว ที่มีการนำ Apple M1 ซึ่งเป็นชิประดับเดียวกับ Mac และใช้จอ Super Retina XDR ให้รุ่น 12.9 นิ้ว ที่แอปเปิลคุยว่า เป็นจอระดับเดียวกับจอ Pro Display XDR และนั่นยิ่งทำให้ position ของ iPad Pro ชัดเจนยิ่งขึ้น

แต่จิ๊กซอว์ที่สำคัญยังขาดหายไป และนั่นคือ แอปพลิเคชันสำหรับสาย creative professionals

ปัญหาที่ตามมา เมื่อปรับ Position ไปทาง Creative Professionals

Adobe Photoshop บน iPad หนึ่งในแอปพลิเคชันระดับโปร สำหรับสายงาน Creative Professionals

จากการที่แอปเปิลปรับ position ของ iPad Pro ให้มีความชัดเจนในสาย creative professionals มากยิ่งขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือ แอปที่เพิ่มพูนความสามารถในสายงานนี้ที่หลั่งไหลเข้ามา

โดย 2 ตัวอย่างที่ชัดเจนนั่นก็คือ LumaFusion แอปพลิเคชันด้านการตัดต่อวิดีโอที่เรียกได้ว่า ทัดเทียมซอฟต์แวร์กลุ่ม NLE ในท้องตลาด หรือแม้แต่การมาถึงของ Photoshop for iPad ของ Adobe ที่แสดงให้เห็นว่า iPad Pro สามารถทำอะไรได้มากกว่าการเป็นแท็บเล็ต

แม้ว่า iPad Pro จะมีแอปพลิเคชันที่เน้นหนักไปทาง creative professionals มาก แต่ iPad Pro ยังประสบปัญหาหนึ่งคือ แอปพลิเคชันในสาย creative professional แบบ high profiles ยังมีไม่มากพอ แต่นั่นไม่ใช่แค่ปัญหาเดียวของ iPad Pro

ปัญหาที่สำคัญที่สุดในช่วงที่ผ่านมาคือ ข้อจำกัดของ iPadOS นั่นเอง

ปลดล็อกข้อจำกัด เพื่อเปิดทางให้สำหรับแอปพลิเคชันระดับ Pro

ฉากเปิดตัว iPad Pro ที่ใช้ Apple M1 (ภาพจากแอปเปิล)

ในปีที่แล้ว แม้ว่าแอปเปิล จะเปิดตัว iPad Pro ที่ใช้ Apple Silicon อย่าง Apple M1 รวมถึงสามารถใส่ RAM ใน iPad Pro ได้สูงสุดถึง 16GB ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับแอปพลิเคชันสาย creative professionals โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่ม NLE ที่ต้องการทรัพยากร RAM ค่อนข้างเยอะ

ทว่า ด้วยข้อจำกัดของ iPadOS ระบบปฏิบัติการที่อยู่เบื้องหลังของ iPad (ที่พัฒนามาจาก iOS) สามารถใช้ RAM ได้เพียงแค่ 5GB เท่านั้น ทำให้บางแอปพลิเคชันที่จำเป็นต้องใช้ RAM จำนวนมาก ไม่สามารถใช้ทรัพยากรนั้นได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี แอปเปิลเองก็เห็นว่า การที่จำกัดให้ iPadOS สามารถใช้ RAM ได้เพียงแค่ 5GB นั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของแอปเปิลในการดัน iPad Pro ให้เข้าใกล้กับการใช้งานแบบเดสก์ท็อป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สาย creative professionals

iPadOS 15 (ภาพจากแอปเปิล)

ด้วยเหตุนี้ ใน iPadOS 15 เป็นต้นมา แอปเปิลได้เปิดช่องให้นักพัฒนาสามารถใช้ RAM ได้สูงสุด 12GB (โดยแอปเปิลระบุว่า จะต้องมี RAM เหลือไว้สำหรับงานด้านอื่น ๆ อย่างน้อย 2GB สำหรับ iPad Pro 11 นิ้ว และ 4GB สำหรับ iPad Pro 12.9 นิ้ว)

จากการปลดล็อกข้อจำกัดนี้เอง ทำให้นักพัฒนาที่ทำแอปสาย creative professionals มั่นใจยิ่งขึ้นที่จะทำแอปให้กับ iPad Pro และสามารถใช้งานประสิทธิภาพของ Apple Silicon ได้(เกือบ)เต็มที่

นอกจากนี้ iPadOS 16.1 ที่เพิ่งออกไปเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีฟีเจอร์สำคัญที่ทำให้ iPadOS ขยับเข้าใกล้ความเป็นเดสก์ท็อปมากยิ่งขึ้น อย่างการเพิ่ม desktop-class API ยิ่งทำให้ iPad Pro กลายเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยดึงดูดให้ creative professionals เลือก iPad Pro มาใช้งานได้มากยิ่งขึ้น


แอปมา เมื่อฟ้าเป็นใจ

DaVinci Resolve บน iPad ส่วนหน้า Color Grading (ภาพจาก Blackmagic Design)

จากข้อจำกัดที่ใหญ่โต เริ่มน้อยลงไปเรื่อย ๆ และทิศทางที่แอปเปิลมองไว้สำหรับ iPad Pro ยิ่งเปิดโอกาสให้นักพัฒนาต่าง ๆ โดยเฉพาะนักพัฒนาสาย creative professionals เริ่มที่จะเห็นโอกาสในการขยายฐานลูกค้าบนแพลตฟอร์ม iPadOS อีกด้วย และ Blackmagic Design เองก็มองเห็นสิ่งนั้นเช่นกัน

ในช่วงที่ผ่านมา Blackmagic Design ได้ทำงานร่วมกับแอปเปิลเป็นรายแรก ๆ นับตั้งแต่แอปเปิลเปลี่ยนผ่านสถาปัตยกรรม Mac จาก Intel ไป Apple Silicon ซึ่งจะเห็นได้จากช่วงเปิดตัว Mac ที่ใช้ Apple M1 ที่แอปเปิลเชิญ Blackmagic Design มาอธิบายถึงความสามารถของ Apple M1 กับ workflow ของ DaVinci Resolve (ดูได้จากวิดีโอด้านล่างนี้)

จากการที่ Blackmagic Design เองพัฒนา DaVinci Resolve ให้รองรับ Apple Silicon โดยเฉพาะตระกูล M รวมไปถึงประสิทธิภาพของ iPad Pro ที่เน้นหนักไปทาง creative professionals ที่มากยิ่งขึ้น ยิ่งทำให้บริษัทฯ เองมีความมั่นใจในการใช้ความรู้ที่สะสมมา เพื่อพัฒนา DaVinci Resolve สำหรับ iPad

และนั่น ทำให้ iPad Pro มีความโดดเด่นในงานด้าน creative professionals อย่างเห็นได้ชัด

DaVinci Resolve บน iPad คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญของ iPad Pro

DaVinci Resolve บน iPad (ภาพจากวิดีโอของแอปเปิล)

แม้ว่าการใช้งาน iPad Pro ในสายงาน creative professionals นั้น เริ่มที่จะเด่นชัดขึ้นกว่าแต่ก่อนแล้ว แต่ปัญหาสำคัญที่ iPad Pro ยังขาดอยู่คือ ซอฟต์แวร์สำหรับการตัดต่อวิดีโอแบบ NLE ในระดับเดสก์ท็อป

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น แอปเปิลเองก็ไม่มีแอปพลิเคชันสาย NLE ที่ทัดเทียมในระดับ Final Cut Pro ของแอปเปิลเองให้ใช้งาน
จริงอยู่ว่า LumaFusion เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันสาย NLE ที่สามารถชดเชย Premiere Pro, DaVinci Resolve หรือแม้แต่ Final Cut Pro ได้ (แถมยัง export ไฟล์ไปแก้ไขต่อใน Final Cut Pro ได้อีกต่างหาก)

แต่ปัญหาคือ workflow ด้านการตัดต่อวิดีโอส่วนมากมักจะไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากใช้ซอฟต์แวร์ NLE คนละตัวกัน จะเห็นได้จากฝ่าย production ของหลายบริษัทที่เลือกใช้ซอฟต์แวร์ NLE ตัวเดียวกันทั้งองค์กร (อาจจะมีตัวอื่นมาเสริมในฟังก์ชันที่ขาดบ้าง แต่ส่วนมาก มักจะเป็นตัวเดียว)

และนั่นคือสิ่งที่ DaVinci Resolve บน iPad มาอุดช่องโหว่นี้ เพราะตัวแอปรองรับการแก้ไขจากไฟล์ที่มาจาก DaVinci Resolve เวอร์ชั่นเดสก์ท็อปจริง ๆ (แถมยังรองรับฟีเจอร์การแก้ไขร่วมกันได้ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน เพียงแค่ซื้อเครื่อง Blackmagic Cloud มาใช้แค่นั้น)

DaVinci Resolve บน iPad ส่วนหน้าตัดต่อวิดีโอ (ภาพจาก Blackmagic Design)

จริงอยู่ว่าในเวอร์ชัน iPad ยังไม่สามารถใช้งานพวก Fairlight หรือ Fusion ได้ แต่ถ้าหากดูเรื่องการยกฟีเจอร์การตัดต่อวิดีโอ โดยเฉพาะด้านการทำ color grading ที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ เรียกว่า no brainer ได้เลย

นี่คือ Big Deal มาก ๆ ในวงการ creative professionals ที่จะมีเครื่องมือระดับโปรให้สามารถใช้งานได้จริงบน iPad ที่ออกแบบสำหรับโปร เพราะการมาของ DaVinci Resolve บน iPad มันทำให้ workflow การตัดต่อวิดีโอดูเป็นเนื้อเดียวกัน
เสมือนกับเราใช้ซอฟต์แวร์เดียวกันกับบนเดสก์ท็อป ทั้งที่ความเป็นจริงไม่ได้อยู่บนหน้าเดสก์ท็อป ด้วยประสิทธิภาพระดับเดสก์ท็อป (ผ่านชิป Apple Silicon)

และจากฟีเจอร์ที่แอปเปิลได้เปิดตัวควบคู่กับ iPad Pro ที่ใช้ Apple M2 (อย่างการถ่ายวิดีโอในรูปแบบ ProRes ในระดับเดียวกับ iPhone กลุ่ม Pro) ยิ่งตอกย้ำถึงความเป็นอุปกรณ์ที่ตอบสนองงานด้าน creative professionals อย่างแท้จริง

และนั่น ยิ่งทำให้ position ของ iPad Pro เพื่องานสาย creative professionals ที่แอปเปิลวาดฝันไว้ ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นเท่านั้น

Discover more from Be1con's Blog

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading